• Welcome to รวมเครื่องรางของขลังทุกทิศทั่วไทย.
 

พระจันทร์เสี้ยว หลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก

เริ่มโดย อาโลฮา มาโลนนนน, พ.ย 17, 2023, 09:14 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

อาโลฮา มาโลนนนน

เหรียญหล่อพระจันทร์เสี้ยว หลวงพ่อโสก หรือพระครูอโศกธรรมสาร วัดปากคลองบางครก สร้างเป็นที่ระลึกในงานทำบุญวัดเกิดของท่าน เมื่อ พ.ศ.2465 ด้านหน้าเป็นยันต์อุโองการ ล้อมรอบด้วยช่อรวงข้าว ด้านหลังเป็นตัวอักษรไทย เป็นเหรียญหล่อแบบประกบหน้าหลัง หูปลิงในตัว เป็นเหรียญที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
พระครูอโศกธรรมสาร หรือที่ชาวบ้านเรียกท่านว่า หลวงพ่อโศก วัดปากคลอง (ชาวบ้านชอบเรียกว่า "วัดปากคลองบางครก") ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร ปี พ.ศ. 2415 ที่บ้านแควใหญ่ ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โยมบิดาชื่อ พันธุ์ โยมมารดาชื่อ นาก เมื่อท่านอยู่ในวัยอันสมควรบิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือกับพระอธิการเพิ่ม วัดสวนทุ่ง ท่านเป็นคนที่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน จึงสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างรวดเร็ว

หลังจากนั้น พออายุครบบวช บิดา มารดาก็ได้อุปสมบทให้ ที่วัดปากคลอง ในปี พ.ศ. 2435 ได้รับนามฉายาว่า "สุวณฺโณ" โดยมีพระอธิการคล้ำ วัดปากคลอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการทรัพย์ วัดเขาตะเครา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการเพิ่ม วัดทุ่งสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วก็ได้อยู่ปฏิบัติพระอุปัชฌาย์พอสมควรแล้ว ท่านก็ได้เดินทางมาอยู่ ที่วัดมหาธาตุฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียน พระธรรมวินัยบาลี ไวยากรณ์ และวิปัสสนากรรมฐานในสำนักพระอธิการครุฑ ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนาธุระ ศึกษาอยู่ได้ปีเศษๆ พระอธิการครุฑท่านก็ถึงแก่มรณ ภาพ หลวงพ่อท่านจึงได้ศึกษาต่อกับพระสุวรรณมุนี (ฉุย) วัดคงคารามฯ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 พระอธิการหลุบ เจ้าอาวาส วัดมหาธาตุก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดมหาธาตุสืบแทน แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้เพียงปีเศษเท่านั้น วัดปากคลองก็ว่างเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านบางครกต่างก็มานิมนต์หลวงพ่อโศก ให้ไปช่วยเป็นเจ้าอาวาสและช่วยพัฒนาวัดให้ หลวงพ่อจึงต้องกลับมาเป็นเจ้าอาวาส วัดปากคลอง

หลังจากที่ท่านได้เป็นเจ้าอาวาส วัดปากคลองแล้ว ก็ได้จัดระเบียบและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้เรียบร้อยสร้างศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ ศาลาบำเพ็ญกุศล โรงเรียน พระอุโบสถ จนวัดปากคลองเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ ในปี พ.ศ. 2452 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดบางครก พ.ศ. 2465 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2478 เป็นเจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม และเป็นพระครูอโศกธรรมสาร

หลวงพ่อโศกท่านออกบิณฑบาตทุกวัน และทำวัตรเช้าเย็นมิได้ขาด ท่านมีเมตตาปรานีแก่ทุกผู้ทุกนาม จึงเป็นที่รักเคารพของชาวบ้านเป็นอย่างมาก หลวงพ่อท่านมรณภาพในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 สิริอายุได้ 67 ปี พรรษาที่ 47 หลวงพ่อท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่างเช่น พระขรรค์เขาควายเผือก ตะกรุด ผ้ายันต์ น้ำเต้ากันไฟ ปลัดขิก พระเนื้อผงและเนื้อชิน แต่ที่เล่นหากันชัดเจนและมีมาตรฐานก็คือ เหรียญหล่อพระจันทร์เสี้ยว 2465 เหรียญพระพุทธทับยันต์ 2467 เหรียญพระพุทธชินราช พ.ศ.2468 เหรียญข้าวหลามตัด 2476 เหรียญพระพุทธชินวงศ์ 2478 ที่เหลือจะเป็นเครื่องราง พระขรรค์ และปลัดขิก ส่วนเหรียญที่เป็นรูปท่าน สร้างแจกในงานศพ พ.ศ.2483
หลวงพ่อโสก ท่านเป็นพระเถระที่เก่งทางวิชาการแพทย์ ว่ากันว่าในสมัยนั้นวัดปากคลองบางครก มีผู้คนหลั่งไหลกันมาให้หลวงพ่อทำการรักษาโรคกันอย่างไม่ขาดสาย ราวกับว่าเป็นโรงพยาบาลใหญ่ในสมัยนี้เลยทีเดียว เนื่องด้วยการแพทย์สมัยใหม่ที่ฝรั่งนำเข้ามาในสมัยนั้นยังไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าสมัยนี้ พระภิกษุที่เป็นหมอพระ จึงเปรียบเสมือนแพทย์ใหญ่ ผู้ใช้วิชาแผนโบราณทำการรักษาชาวบ้านให้พ้นทุกข์โศกโรคภัย โดยค่ารักษาก็แล้วแต่จะทำบุญถวายวัด ซึ่งหลวงพ่อโสกเองท่านก็มีตำรายาเก่าแก่อยู่มากมาย และปรากฏผลการรักษาเป็นที่น่าอัศจรรย์ อีกกระแสหนึ่งจากการที่ผมเคยได้คุยกับเซียนพระรุ่นเก่า ท่านว่าหลวงพ่อโสก เป็นต้นตำรับของยาจินดามณี ซึ่งหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และพระเกจิอื่นๆ ที่เป็นหมอพระ ก็มาเรียนจากท่านไป ไล่กันมาตั้งแต่สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์ของท่านหมด เสียดายที่ตอนสัมภาษณ์เซียนพระท่านนี้ผมไม่ได้บันทึกเทปเอาไว้ ไม่เช่นนั้นคงได้ถ่ายทอดความรู้ได้ชัดเจนกว่านี้
หลายสิบปีที่ผ่านมา ราคาเช่าหาเหรียญจันทร์เสี้ยวพอๆ กับหลวงพ่อฉุย และหลวงพ่อแดง บางช่วงจะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งเสียด้วย แต่ด้วยความหายาก จึงทำให้ปัจจุบันนี้ราคาจึงยังเป็นรองอยู่ แต่ถ้าเป็นพุทธคุณ รับรองได้เลยครับว่าไม่ทิ้งห่าง
อีกข้อหนึ่งที่อยากจะทิ้งความเห็นส่วนตัวไว้ เห็นจะเป็นเรื่องความเชื่อของเหรียญจันทร์เสี้ยว ที่บางท่านบอกว่า สร้างมาแจกมุสลิม แถบบ้านแหลม ท่าแร้ง บางครก นั้น ในข้อนี้ผมเห็นว่าไม่จริงเสียทีเดียว เชื่อว่าท่านสร้างมาเพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ทุกๆ คนมาร่วมงานบุญวันเกิดท่าน แม้แต่ชาวมุสลิมก็รับเหรียญของท่านมาเก็บไว้เป็นที่ระลึก เพียงแต่ไม่ได้ห้อยตามหลักศาสนาอิสลามเท่านั้น เนื่องจากหลวงพ่อท่านรักษาชาวบ้านทุกชาติ ทุกศาสนา จึงมีผู้เคารพนับถือท่านมาก โดยเหรียญสภาพดีๆ สวยๆ จะตกอยู่กับชาวมุสลิม เวลาเขาเสาะหาเหรียญจันทร์เสี้ยวกัน ก็จะไปหาตามบ้านมุสลิมในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของความเชื่อดังกล่าว ด้วยเหตุที่ว่ามุสลิมนับถือดวงดาวและดวงจันทร์ บังเอิญหลวงพ่อท่านใช้ยันต์อุโองการที่มีรูปจันทร์เสี้ยวอยู่ตรงกลาง จึงสอดคล้องกันพอดี เป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า เหรียญจันทร์เสี้ยว มาทุกวันนี้


ขอบคุณ ศาลาวัด พระเครื่อง